Michael Burry ข้อมูลใหม่ “ซับไพร์ม” ที่ต้องอ่าน
Michael Burry ข้อมูลใหม่ “ซับไพร์ม” ที่ต้องอ่าน
กลายเป็นว่า “ซับไพร์ม” ได้รับการยกขึ้นเป็นคำฮิตประจำปี 2550 จากสมาคมภาษาถิ่นอเมริกันขึ้นแซงหน้าคำว่า “เฟซบุ๊ค” และ คำว่า “กรีน” ด้วยเหตุผลง่ายๆ เลยคือ ทางสมาคมทราบดีว่าวิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ส่งผลร้ายต่อสหรัฐอย่างไร บ้าง อีกทั้งเป็นคำที่ใช้บ่อยในบรรดานายธนาคาร
รากศัพท์ทางภาษาศาสตร์ของคำนี้ “ซับ” แปลว่า ต่ำกว่ามาตรฐาน ขณะที่ “ไพร์ม” มีความหมายว่าดีที่สุด เมื่อรวม 2 คำเข้าด้วยกัน ซับไพร์ม จึงหมายถึง คุณภาพที่เป็นรอง พิษสงของซับไพร์มทิ้งเถ้าถ่านให้เศรษฐกิจสหรัฐพังครืนเป็นโดมิโนอย่างที่เห็นๆ กันอยู่
ความเป็นจริงของโลกเทคโนโลยีไร้พรมแดน ที่การทำธุรกรรมทางการเงิน การถ่ายโอน การซื้อขายกองทุนต่างๆ สามารถเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปตลาดใดก็ได้ เมื่อใดก็ได้ ที่คิดว่าให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ง่ายดายเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสบนจอคอมพิวเตอร์ ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนและตลาดโภคภัณฑ์ในประเทศต่างๆ ในระบบทุนนิยมมีความซับซ้อนมากขึ้น ความเหิมเกริมของคนอเมริกันที่ร่ำรวยจากการเล่นหุ้นเป็นหลัก ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนของประเทศนี้อู่ฟู่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ซื้อง่ายขายคล่อง ตลาดอ้าแขนรับผู้เล่นหน้าใหม่ที่เสาะแสวงหาความร่ำรวยทางลัด ใครอยากมีบ้านก็มีได้ เดินไปขอกู้เงินจากนายธนาคาร แป๊บเดียวก็มีบ้านเป็นของตัวเอง
Classical Crisis ฉบับนี้ MBA ขอเล่าเรื่องเบื้องหลังก่อนเกิดวิกฤต ซับไพร์มที่เกิดขึ้นกับอเมริกาโดยผ่านตัวละครคนหนึ่งที่คิด “สวนกระแส” คิดต่างจาก Mob หรือฝูงชนซึ่งกำลังบ้าคลั่งไปกับภาพลวงตาของฟองสบู่ซับไพร์ม และเขาก็สามารถทำกำไรได้จากวิธีคิดดังกล่าว
เป็นเรื่องราวของ Michael Burry นักลงทุนเพียงคนเดียวที่หยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าก่อนที่สหรัฐจะเกิดวิกฤต ทางการเงินและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์โดยวางแผนทางการเงินไว้ล่วงหน้าอย่าง น้อย 5 ปี ด้วยกลยุทธ์ทางการเงินที่ไม่เหมือนใครและไม่คิดจะลอกเลียนแบบใคร จากปลายปากกาของนักเขียนเชิงการเงินชั้นแนวหน้า Michael Lewis ในหนังสือเล่มใหม่ถอดด้ามของเขา The Big Short: Inside the Doomsday Machine
โปรดติดตามด้วยความใจจดใจจ่อ...
One eye watching
มุมหนึ่งของสังคมอเมริกัน ชายคนหนึ่งกำลังเฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ Michael Burry หมด เวลาไปกับการอ่านหนังสือเกี่ยวกับตลาดเงินตลาดทุน ทั้งๆ ที่ Michael Burry เป็นนักเรียนแพทย์ด้านประสาทวิทยา แต่กลับสนใจและกระหายใคร่รู้ด้านการเงิน คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ในมือไม่ได้เพื่อเล่น facebook หรือเปิดมาเพื่อเล่นเกม หรือ chat กับคนโน้นทีคนนี้ที แต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการเล่นหุ้น และค้นหาข่าวสารด้านตลาดเงินตลาดทุนเป็นหลัก
เปรี้ยงเดียวที่ Michael Burry ประกาศตัวว่าจะไม่เป็นหมอด้านประสาทวิทยาอีกต่อไป และผันตัวเองมาเป็นผู้จัดการกองทุน ทำเอาหลายๆ คนอึ้งไปตามๆ กัน ประธาน Stanford department of neurology ถึงกับออกมาพูดให้ Michael Burry กลับไปคิดทบทวนและตัดสินใจให้ดีก่อน แต่ด้วยความมุ่งมั่นและความชอบทำให้การตัดสินใจของเขาในครั้งนี้กลับพลิก ชีวิตเขาอย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ “I found it fascinating and seemingly true that if I could run a portfolio well then I could achieve success in life” นั้นคือคำตอบของ Michael Burry กระทั่งพ่อของเขาเองเคยแสดงความคิดเกี่ยวกับตลาดเงินตลาดทุนไว้ว่า “ตลาดหุ้นเป็นเหมือนสถานที่ที่มีแต่การคดโกงและไว้ใจไม่ได้” แสดง ความรังเกียจให้เห็นอย่างเด่นชัดต่อการสร้างความมั่งคั่งด้วยวิธีการนี้ ก็อาจจะจริงสำหรับใครหลายคนที่คิดแบบนั้น เพราะการเอาตัวเองเข้าไปคลุกคลีอยู่กับตลาดหุ้นนั้น ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่เสี่ยงอยู่มากเพราะหุ้นมีขึ้นลง ไม่ได้ก็เสีย แต่สำหรับคนอย่าง Michael Burry กลับไม่คิดอย่างนั้น ตลาดหุ้นกลายเป็นสถานที่ที่ทำให้เขาตี่นตาตื่นใจและเป็นช่องทางที่เขาจะทำ เงินได้อย่างมหาศาล
ต้นปี 2004 Michael Burry อ่านหนังสือและบทความเกี่ยวกับไฟแนนซ์ทุกเล่ม หมกมุ่นอยู่กับการเล่นหุ้น วิเคราะห์และเลือกเล่นหุ้นด้วยความระมัดระวัง ภายในห้องสี่เหลี่ยมที่มีเพียงแค่เขากับคอมพิวเตอร์ตัวเดียว ความกระหายใคร่รู้เรื่องไฟแนนซ์ ระคนกับความสงสัยว่า ตลาดซับไพร์มทำงานกันอย่างไร และทำไมบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับ rating จาก Moody & Poors ระดับบนถึงได้รับสินทรัพย์ก่อนใครเพื่อน ทั้งๆ ดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ขณะที่บริษัทที่ได้รับเครดิตต่ำๆ อยู่ชั้นล่างสุด กลับได้รับเงินหลังสุด แม้ว่าเมื่อลงทุนกับบริษัทเหล่านี้จะได้รับดอกเบี้ยในราคาสูงก็ตาม
Michael Burry ศึกษาการซื้อพันธบัตร (bonds) ทำให้เขาต้องอ่านเอกสารนับพันนับหมื่นหน้าเพื่อดูรายละเอียดการเลือกซื้อ พันธบัตรของบริษัทต่างๆ ประกอบกับเมื่อดูข้อมูลด้านการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในอเมริกาช่วงปี 2004 พบว่า มาตรฐานที่เคยเคร่งครัดในการปล่อยเงินกู้ยืมเงินเพื่อซื้อบ้านของคนอเมริกัน กลับลดหย่อนไปมาก นายธนาคารลดมาตรฐานการให้กู้ยืมเงินกับผู้ขอกู้ และมาตรฐานนี้ไม่ได้ลดลงเพียงธรรมดาแต่ลดลงชนิดที่เรียกว่าทุบสถิติ สถาบันการเงินต่างพากันปล่อยกู้เพื่อให้คนอเมริกันไปเก็งกำไรซื้อบ้าน โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง ที่อาจเกิดขึ้นว่าวันหนึ่งข้างหน้าถ้าราคา อสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลงแล้ว ราคาหลักประกันจะลดลงไม่คุ้มกับหนี้ที่ปล่อยไป
โลกในระบบทุนนิยมทำให้เกิดนวัตกรรมทางการ เงิน (financial innovation) ผ่องถ่ายความเสี่ยงออกจากบัญชีของตัวเองไปให้สถาบันการเงินอื่นๆ ผ่านการแปลงหนี้สินเป็นหลักทรัพย์ (Securitization) แล้วนำไปขายต่อให้นักลงทุนหรือกองทุนเก็งกำไรที่ต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ ที่ให้ผลตอบแทนสูง ทำให้ผู้กู้ซื้อบ้านได้รับข้อเสนอที่แทบจะไม่ต้องมีเงื่อนไขใดๆ ธนาคารปล่อยกู้แม้กระทั่งคนที่มีรายได้ไม่มั่นคง นี่อาจกลายเป็นสัญญาณหนึ่งที่ Michael Burry ล่วงรู้ได้ด้วยสายตาของเขาว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ใน อเมริกา
Burry’s strategy
“การลงทุนในแต่ละครั้งมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น” และถ้าจะคิดลอกเลียนเอาแนวคิดของใครมาเพื่อลงทุนในช่วงเวลาหนึ่งแล้วล่ะก็ คงไม่ใช่เป็นแนวทางการลงทุนของ Michael Burry เป็นแน่ เพราะแม้กระทั่ง Warren Buffett เอง ก็มีแบบฉบับในการลงทุนเป็นของเขาเอง หรือแม้แต่ Ben Graham คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นทั้งนักลงทุน ผู้จัดการกองทุนและผู้ที่วางรากฐานการลงทุนในตลาดหุ้นนิวยอร์กก็ตาม
การเรียนรู้แนวทางการลงทุนของทั้งสอง ทำให้ Michael Burry ตระหนักได้ว่าการลงทุนไม่มีสูตรที่สามารถนำมาคิดคำนวณได้ เพราะ “ถ้าหากคุณอยากเป็นนักลงทุนที่ดี ก็ต้องมีสไตล์เป็นของตัวเองและวางตำแหน่งว่าคุณคือใคร” นั่นคือแนวคิดในการลงทุนของเขา และถ้าคิดตามไปด้วยก็น่าจะสรุปได้ว่า แต่ละคนต้องมีแนวทางในการลงทุนของตัวเอง นั้นก็หมายความว่า ต่อให้คุณข้ามน้ำข้ามทะเลไปร่ำเรียนมาจากโรงเรียนที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ก็คงไม่ช่วยอะไร
พฤศจิกายน 1999 เขาคิดถึงเรื่อง “value investing” และลงทุนจริง สร้างบล๊อกโพสต์เรื่อง stock market trade เปิดบริษัทของตัวเองชื่อว่า Scion Capital ด้วย เงิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเงินที่มาจากแม่และน้องชายหลังจากที่พ่อเสียไปแล้วระดมเพิ่มกับผู้ ที่ศรัทธาในตัวเขา โดยกลยุทธ์การลงทุนของ Burry คือ เขาจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากนักลงทุนให้พอต่อค่าใช้จ่ายในกองทุนและจะทำ เงินได้ก็ต่อเมื่อเงินทุนของนักลงทุนเพิ่มขึ้นและนำไปลงทุนอีกต่อหนึ่ง ปีแรกผลปรากฏว่าเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 55% ขณะที่ S&P 500 หล่นไป 11.8% ปีถัดมา S&P 500 หล่นไปอยู่ที่ 22.1% Scion เพิ่มขึ้น 16% ปี 2003 หุ้นของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 28.69% กลางปี 2005 หลังจากเปิดบริษัทมาได้ 5 ปี เงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นมาถึง 242% เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ตลาดหุ้นตกลงมา 6.84% ชายผู้นี้ใช้สายตาในการจับทิศทางเศรษฐกิจด้วยการนั่งอยู่ในห้อง อ่านหนังสือการเงินและการตัดสินใจของ Scion Capital มีเพียงแค่ Michael Burry เท่านั้น
เดิมทีธนาคารมีเงินทุนส่วนหนึ่งและเงินฝาก จากลูกค้าอยู่อีกจำนวนหนึ่ง เงินฝากจำนวนนี้เองที่ธนาคารนำมาปล่อยกู้จำนองบ้านให้กับลูกหนี้ ด้วยความที่สินเชื่อที่ปล่อยได้มีจำนวนจำกัด แต่ธนาคารต้องการสะสมความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น ลำพังจะไปเพิ่มทุนที่มีอยู่ก็ทำไม่ได้ แต่ด้วยความชาญฉลาดของบรรดานายธนาคารที่ต้องการปล่อยสินเชื่อให้มากขึ้น เพื่อให้ได้ดอกเบี้ยเยอะๆ ก็เอาสินเชื่อก้อนนี้ไปขายต่อในตลาดหุ้นกู้ (bond markets) ทำให้หาเงินมาปล่อยกู้ได้ง่ายขึ้น ถ้าจะวิเคราะห์แล้วก็เหมือนกับธนาคารเปลี่ยนบทบาทใหม่มาเป็นคนกลาง ส่วนนักลงทุนต่างชาติที่ธนาคารนำเงินไปปล่อยนั้นกลายเป็นเจ้าหนี้ถือครองสิน เชื่อเหล่านั้นไว้แทน
ความเฟื่องฟูของธุรกิจนี้มีแต่จะโตวันโตคืน ทั้งลูกหนี้ ธนาคาร และนักลงทุนต่างสมความปรารถนา ธนาคารได้กำไรมหาศาลในรูปค่าธรรมเนียมเรียกเก็บสินเชื่อที่ขายต่อได้ ลูกหนี้ก็มีบ้านเป็นของตัวเอง นักลงทุนก็นำเงินไปหมุนเวียนอีกทอดหนึ่ง พวกนายธนาคารหัวใสจึงเสนอให้นายหน้าจัดจำนองเอาสินเชื่อจำนองบ้านโดยเฉพาะ แบบซับไพร์มไปขายให้กับบริษัทใน Wall Street เพิ่มมากขึ้น เพื่อจัดมัดรวมกันแปลงเป็นหลักทรัพย์ (securitization) ปล่อยขายในตลาดหุ้นกู้จำนองอีกที สั่งสมพอกพูนเพิ่มจำนวนสินทรัพย์เป็นเท่าทวี
พ่อหนุ่มสายตาเฉียบคมคนนี้ เห็นท่าแล้วว่าเรื่องจะยุ่งยากไม่จบง่ายๆ ปัญหาที่ตามมาจะกลายเป็นปัญหาระดับชาติ เขาจึงไม่รอช้าเริ่มซื้อ credit-default swaps (ตรา สารอนุพันธ์ประกันความเสี่ยงไม่ว่าจะออกโดยรัฐบาลหรือเอกชน) กว้านซื้อมาให้ได้มากที่สุด สถานที่แรกที่เข้าไปซื้อ credit-default swaps เป็นเงินถึง 60 ล้านเหรียญสหรัฐจาก Deutsche Bank (ราวเดือนพฤษภาคม 2005) และอีก 10 ล้านเหรียญสหรัฐในตลาดพันธบัตร
ลักษณะการลงทุนแบบนี้ของ Burry ทำให้เขากลายเป็นนักลงทุนเพียงคนเดียวที่จัดอยู่ในประเภท old-fashioned bank credit ไม่ ใช่ว่าอยู่ดีๆ เขาจะคิดได้ว่าต้องรีบซื้อ credit-default swaps แต่เกิดจากการ self-taught ของเขาเองและวิเคราะห์ข้อมูลด้านความสัมพันธ์ของอัตราส่วนมูลค่าเงินกู้ยืม ซื้อบ้าน สิทธิของความเป็นเจ้าของบ้านในลำดับที่ 2 ตลอดจนทำเลที่ตั้งของบ้าน รายได้และเอกสารการกู้ยืมเงินของผู้กู้ และองค์ประกอบในการตัดสินใจกู้ซื้อบ้านของคนอเมริกา ปี 2005 สรุปแล้วเขาคิดว่า อีกไม่นานตลาด Sub-prime นี้คงไปไม่รอด และตอนนั้นเขาก็จะ Make Money เพราะ credit-default swaps ที่เขามีอยู่ พูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ “กรมธรรม์ประกันภัย” นั่นเอง
ในเชิงการลงทุนแล้ว เขากำลังทำในสิ่งที่เรียกว่า “Bet against the trend” โดย วางเงินดาวน์จำนวนไม่มากนักซื้อประกัน แต่หากแนวโน้มเกิดหักมุม เขาก็จะได้เงินก้อนโตตามสัญญา เช่นเดียวกับ การทำประกันภัยที่เราเสียเบี้ยประกันไม่มากนัก แต่เมื่อเกิดไฟไหม้ ผู้เอาประกันก็จะได้รับเงินก้อนโต นั่นแหละ
ความพยายามอย่างหมกมุ่นในการไล่ล่าซื้อ credit-default swaps ของ Michael Burry ทำให้ Bank of America ยอมขาย credit-default swaps ให้ในราคา 5 ล้านเหรียญสหรัฐ Goldman Sachs ก็ยอมขายประกันประเภทเดียวกันนี้ให้กับเขา แล้วยังส่งข้อความแสดงความยินดีกับเขาเหมือนกับว่าในที่สุดก็มีคนซื้อเครดิต ประเภทนี้ไปจนได้ เพราะเขาเป็นคนแรก ใน Wall Street ที่ซื้อหลักประกัน credit-default swaps และสงสัยว่าชายผู้นี้จะซื้อประกันความเสี่ยงประเภทนี้จำนวนมากมายไปทำไม เพื่อประกันความเสี่ยงต่อ subprime-mortgage bonds ดูเหมือนว่าทุกคนไม่คิดหรือเฉลียวใจเลยสักนิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตลาด อสังหาริมทรัพย์ เพราะที่ผ่านมาตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐมีแต่ขยายตัว และไม่มีทีท่าว่าจะเกิดปัญหา
ไตรมาส 2 ปี 2005 ตลาดบ้านบูมสุดขีด FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตลาดหุ้นกู้จำนองมีมูลค่าถึง 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เป็นภาคการเงินส่วนที่ใหญ่โตสุดในตลาดพันธบัตรหรือหุ้นกู้ทั้งหมดมีมูลค่า รวม 27 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เรียกว่าใหญ่กว่าตลาดพันธบัตรกระทรวงการคลังสหรัฐเสียด้วยซ้ำ
ลักษณะการทำงานของ Michael Burry กับนักลงทุนมีเพียงวิธีเดียวคือการติดต่อผ่านทางอีเมลเท่านั้น กลายเป็นเรื่องที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนกับเขา เกิดคำถามมากมายต่อการลงทุนในบริษัท Scion Capital บางคนก็ไม่พออกพอใจกับสิ่งที่เขาทำ ไม่เข้าใจว่า Michael Burry พยายามทำอะไรอยู่ วิจารณ์เขาว่า “Mike’s the best stock picker anyone knows. And he’s doing… what?” บาง คนก็ยังอดสงสัยไม่ได้ว่าการทำ credit-default swaps นี้มันจะดีจริงหรือไม่แล้วทำไม Goldman Sachs ถึงสร้างสัญญาขึ้นมาขายให้เขาตามที่เขาต้องการแบบไม่จำกัด (อย่าลืมว่า Goldman Sachs ก็ได้ค่าธรรมเนียมจากการทำแบบนี้และสามารถออกตัวต่อไปยังบริษัทประกันอย่าง AIA ได้ด้วย) บางคนก็ไม่เข้าใจว่า credit-default swaps นี้คืออะไรกันแน่
ทว่า ความที่เป็นนักลงทุนที่มีแนวทางการลงทุนเป็นของตัวเอง ต้องการให้ผู้ที่อยากลงทุนในบริษัทของเขาอ่านรายละเอียดและไอเดียของเขา อย่างต่อเนื่อง ให้เข้าใจว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ ไม่ใช่เพราะว่าเข้ามาลงทุนกับเขาเพราะเห็นด้วยกับ blog ที่เขาเขียนเพียงเท่านั้น นักลงทุนควรติดตามความเคลื่อนไหวและแนวคิดในการลงทุนของเขา แต่ดูเหมือนว่า บรรดานักลงทุนเหล่านั้นต่างไม่สนใจอะไรนอกจากจะคิดแต่เพียงว่า ทำอย่างไรให้ได้เงินเร็วๆ ก็เท่านั้น นี่ก็คงเป็นลักษณะนิสัยของนักลงทุนส่วนใหญ่ อยากเห็นเงินที่ลงทุนงอกเงยขึ้นมาไวๆ นักลงทุนคนหนึ่งที่มาจาก New York บอกกับ Michael Burry ว่า “คุณรู้ไหมว่าคน จำนวนมากต้องการถอนเงินทุนออก เพราะเงินไม่มีการหมุนเวียน ไม่งอกเงยอยู่กับบริษัทของคุณ Scion Capital และนักลงทุนก็ทำได้แต่เพียงอีเมลหาเท่านั้น”
การลงทุนน่าจะเป็นลักษณะการหวังผลในระยะยาว มากกว่า Michael Burry พยายามอธิบาย เพราะจากสถิติแล้วกำไรที่ได้จากการลงทุนในระยะสั้นมีปัจจัยด้านโชคเข้ามา เกี่ยวข้องมาก แต่เสียงทัดทานเพียงเสียงเดียวจากเขาคงไม่ทำให้เกิดฟันเฟืองในการต่อกรกับ บรรดานักลงทุนที่ไม่เห็นด้วยกับเขา
จุดจบซับไพร์ม
ก่อนหน้าที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะล่มสลาย ไม่กี่วัน เหมือนว่าบรรดานายธนาคารต่างไหวตัวและรู้แล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้นนับจากนี้ต่อ ไป ต่างแสดงตัวเข้ามาขอซื้อ credit-default swaps จากบริษัท Scion Capital เพราะรู้ว่า Michael Burry มี credit-default swaps เป็นจำนวนเงินมหาศาล เริ่มจากการได้รับอีเมลจาก Greg Lippmann (head subprime guy at Deutsche Bank) เพื่อเจรจาของซื้อ credit-default swaps น่าแปลกที่แต่ก่อน Greg Lippmann ปฏิเสธ ความต้องการของ Michael Burry เรื่องเงินหรือสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกันในการกู้ยืม แต่มาตอนนี้ผู้ชายคนนี้โทรหาเขาแล้วกลับพูดว่าต้องการซื้อ credit-default swaps ใน Scion Capital
หรือแม้แต่หญิงสาวจาก Wall Street ชื่อ Veronica Grinstein ใช้ โทรศัพท์ส่วนตัวแทนการใช้โทรศัพท์ของ Wall Street (MBA รู้มาว่า การทำธุรกรรมทางการเงินใน Wall Street ทุกครั้งจะมีบันทึกการโทรเข้าออกจากโต๊ะที่ทำการของเทรดเดอร์หรือดีลเลอร์) แจ้งความจำนงในการซื้อ credit-default swaps เป็นจำนวนเงิน 25 ล้านเหรียญสหรัฐ (แสดงว่าหญิงคนนี้รู้ถึงหายนะที่กำลังจะเกิดขึ้นแล้ว) เหล่านี้อาจเป็นสัญญาณที่บอกระเบิดเวลาฟองสบู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ จวนเจียนแตกดังโพละ
สิ่งที่เขาเคยพนันไว้ว่าวันหนึ่งตลาด อสังหาริมทรัพย์จะถึงจุดอวสาน มาวันนี้ สัญญาณจากธนาคารและสถาบันการเงินกำลังบอกให้รู้ว่าสิ่งที่คิดและสิ่งที่เขา ทำเป็นเรื่องจริง ลองจินตนาการดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับคุณเมื่อคุณตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่ง แล้วพบว่า เงินที่สู้อุตส่าห์ลงทุนไปนั้นกลับล้มพังครืนลงมาโดยไม่ได้อะไรแม้สักเหรียญ อย่าว่าแต่เงินที่นำไปลงทุนเลย การจะใช้เงินเพื่อปรนเปรอสิ่งฟุ่มเฟือยคงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชาวสหรัฐอีก ต่อไป ก็เหมือนกับที่ Michael Burry บอกไว้ว่า “It is ludicrous to believe that asset bubbles can only be recognized in hindsight” ทั้งๆ ที่เขาเองก็เคยส่งสัญญาณเตือนไว้แล้ว แต่ไม่มีเสียงตอบรับกลับมา
หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ลงบทความว่าจำนวนลูกหนี้ซับไพร์มไม่สามารถจ่ายหนี้ได้เพิ่มมากขึ้น นับเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โลกกำลังเปลี่ยนไป เศรษฐกิจสหรัฐกำลังพลิกโฉม สหรัฐกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์เงินที่ไม่เคยมีครั้งใดที่ร้ายแรงเท่าครั้งนี้ ไม่มีดีลเลอร์คนไหนจะขายประกัน credit-default swaps ให้ในเวลานี้ Michael Burry กล่าวว่า “ผมกำลังคิดถึงแสงสว่างที่ระเบิดขึ้นในเวลานี้ และหากเจ้าหน้าที่ปล่อยเครดิตที่ฉลาดสักหน่อยก็น่าจะพูดว่าออกไปจากตลาดซื้อขายนี้ซะ”
เทรดเดอร์ใน Wall Street เสียเงินเป็นจำนวนมหาศาล ไม่มีใครได้รับการยกเว้น แม้แต่นายธนาคารใหญ่ อย่าง Greg Lippmann เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบบอกกับ Michael Burry ว่า “ผมสูญเงิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ” กุมภาพันธ์ 2007 มีการผิดนัดชำระครั้งมโหฬาร สถาบันการเงินสั่นคลอน ทั้ง Goldman Sachs และ Morgan Stanley ต่างเผชิญกับสถานการณ์เดียวกันที่เรียกว่า “systems failure”
วิธีการทำงานของ Michael Burry กลายเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเป็นนักลงทุนเพียงคนเดียวที่รอดพ้นจากวิกฤต อสังหาริมทรัพย์ แถมรวยกลายเป็นมหาเศรษฐี เศรษฐกิจในโลกระบบทุนนิยมที่ตลาดเงินตลาดทุนมีความซับซ้อนขึ้น หัวคิดอันชาญฉลาดของมนุษย์สามารถทำลายให้เกิดความหายนะได้พอๆ กับเป็นรางวัลให้กับคนประเภทที่ครั้งหนึ่งเคยถูกเรียกว่าเป็นพวก bipolar หรือ Asperger’s syndrome อย่าง Michel Burry ก็เหมือนกับเขากำลังพูดประชดประชันคนเหล่านั้นว่า “ก็มีแต่พวกที่เป็น Asperger เท่านั้นที่อ่านเรื่อง subprime-mortgage bond นี้ออก” Michel Burry เหมือนจะตัดพ้อผ่านนิตยสาร Vanity Fair ว่าไม่มีใครบอกว่าเขาเป็นคนถูก ไม่มีเลยสักคนที่จะกล่าวขอโทษที่เข้าใจเขาผิดพลาดไป และไม่มีเลยสักคนที่จะพูดว่า “ใช่ Michael Burry คุณทำถูกแล้ว!”
ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทั้งหมดน่าจะตกไป อยู่ที่นายธนาคารทั้งหลายที่มีพฤติกรรมในการปล่อยสินเชื่อที่ไม่รอบคอบ ขยายวงเงินในการปล่อยกู้สินเชื่อในอัตราส่วน 30 ต่อ 1 บอกถึงความล้มเหลวของมาตรฐานการทำหน้าที่เป็นนายธนาคาร ราคาบ้านโดยเฉลี่ยของสหรัฐลดลงไปเป็นประวัติการณ์กว่า 30% แต่นั่นก็ยังไม่ถือว่าแย่ที่สุด ที่ย่ำแย่ไปกว่านั้นคือธนาคารบิดเบือนข้อมูลเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้พวกเขาดู ดีกว่าที่เป็นจริง เคลื่อนย้ายงบดุลที่มีความเสี่ยงเมื่อเกิดวิกฤต ท้ายที่สุดแล้วระบบการเงินเข้าขั้นล้มเหลว จัดการเงินทุนที่ผิดพลาด กว่าที่สหรัฐจะเข้าใจปัญหาก็หลังจากเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นแล้ว อเมริกาก็เลยต้องเผชิญกับหายนะทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติ ศาสตร์
............................................................
เรียบเรียงโดย ธนาวรรณ อยู่ประยงค์