สถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศไทย

ชัยพร เซียนพาณิช
นักวิจัย Siam Intelligence Unit

สถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศไทย

การใช้พลังงานในประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาจากเชื้อเพลิงประเภทฟอซซิลเป็น หลัก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติ เพื่อนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้ในภาคขนส่ง รวมไปถึงภาคการอุตสาหกรรม รูปแบบการใช้พลังงานแบ่งได้เป็นสองส่วนคือ พลังงานไฟฟ้า และพลังงานเชื้อเพลิง
ภาพจากเว็บไซต์คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
ทิศทางพลังงานไฟฟ้า
การผลิตไฟฟ้าของไทยที่ผ่านมาใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 72 ซึ่งนับว่าสูงมาก และทำให้ไทยต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติอย่างมีนัยยะสำคัญ แหล่งที่มาของก๊าซธรรมชาติมาจากอ่าวไทยเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีแหล่งก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งพม่า (แหล่งยาดานา) มาเลเซีย (แหล่ง JDA) และในอนาคตอาจมาจากพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาด้วยอีกแหล่งหนึ่ง
แต่สถานการณ์พลังงานในระดับโลกจะต่างไปจากประเทศไทย เพราะประเทศต่างๆ นิยมใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีราคาถูกกว่าก๊าซธรรมชาติ และมีปริมาณสำรองมากกว่ามาก นอกจากนี้การนำก๊าชธรรมชาติมาเผาเพื่อผลิตไฟฟ้ายังถูกมองว่า “เสียเปล่า” ในเชิงเศรษฐกิจ เพราะสามารถนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้อีกเป็นอันมาก อย่างไรก็ตาม การผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยยังใช้ถ่านหินและพลังงานน้ำเป็นสัดส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับก๊าซธรรมชาติ
นอกจากนี้ไทยยังต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาอีกส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนในประเทศลาวที่มีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน
ในภาพรวมแล้ว ความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยยังเพียงพอต่อการใช้งานภายในประเทศอยู่ แต่ประเทศไทยไม่ได้ลงทุนสร้างโรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่มานานแล้ว รวมทั้งเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าที่อาจเรียกได้ว่าหยุดสร้างไปโดยสิ้นเชิง ดังนั้นถ้าต้องการรักษาสถานะความมั่นคงของพลังงานเอาไว้ในอนาคต การซื้อพลังงานจากเพื่อนบ้าน และการหันไปใช้วัตถุดิบประเภทอื่นๆ จึงกลายเป็นตัวเลือกที่ไม่อาจเลี่ยงได้
ทิศทางพลังงานเชื้อเพลิง
ภาคขนส่งของไทยยังคงใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหลัก ถึงแม้ว่าระยะหลังจะมีการตื่นตัวเรื่องพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยนำเชื้อเพลงชีวภาพ (biofuel) กลุ่มเอทานอลจากวัตถุดิบทางการเกษตรมาเป็นส่วนประกอบของน้ำมันสำเร็จรูปทั้ง เบนซินและดีเซล แต่ประเทศไทยก็ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศอยู่ดี โดยสัดส่วนของพลังงานในกลุ่มน้ำมันอยู่ที่ร้อยละ 39 ของพลังงานทั้งประเทศ และต้องนำเข้าสูงถึงร้อยละ 80 ของปริมาณพลังงานนำเข้าทั้งหมด
อัตราการใช้พลังงานเชื้อเพลิงของไทยไม่เคยลดลงเลย และเมื่อไทยต้องนำเข้าพลังงานเชื้อเพลิงจากภายนอก พอมีปัญหาราคาพลังงานในตลาดโลกสูงขึ้น ประเทศไทยก็จะพบความยากลำบากทางเศรษฐกิจเสมอมา (ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเกิดจากการผลิตน้ำมันของโลกในเวลานี้ได้เลยจุดสูงสุด ของการผลิตทั้งโลกไปแล้ว นั่นหมายความว่าการผลิตในอนาคตจะสามารถผลิตได้น้อยลง ถ้าไม่สามารถเปิดแหล่งพลังงานใหม่ได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านเก็งกำไรอีกส่วนหนึ่ง)
เสถียรภาพความมั่นคงทางพลังงานเชื้อเพลิงของไทยจึงแขวนอยู่บนเส้นด้าย และกำลังกลายเป็นปัญหาความมั่นคงทางพลังงานที่จำเป็นต้องได้รับการติดตามและ ประเมินผลอย่างใกล้ชิด
ปริมาณการบริโภคพลังงานขั้นสุดท้าย 5 ปีย้อนหลัง
แผนภาพที่ 1: ปริมาณการบริโภคพลังงานขั้นสุดท้าย 5 ปีย้อนหลัง (ข้อมูลจาก EPPO)
ปริมาณการบริโภคพลังงานไฟฟ้าต่อปี 5 ปีย้อนหลัง
แผนภาพที่ 2: ปริมาณการบริโภคพลังงานไฟฟ้าต่อปี 5 ปีย้อนหลัง (ข้อมูลจาก EPPO)

อนาคตด้านพลังงานของประเทศไทย

วิกฤติการณ์ราคาน้ำมันขึ้นในปี 2551 ที่ราคาน้ำมันทะยานขึ้นไปสูงเกือบถึง 150 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการกำหนดนโยบายพลังงานของไทย เพราะราคาพลังงานที่สูงย่อมส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ และส่งผลให้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศต่ำลง เนื่องจากต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างประเทศสูงมาก
นอกจากนั้น ปัจจัยที่ว่าไทยยังต้องพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านก็ถือเป็น ปัจจัยเสี่ยงในด้านความมั่นคงพลังงานอีกประการหนึ่ง ซึ่งแนวโน้มการนำเข้าพลังงานไฟฟ้าก็ไม่มีทีท่าว่าจะน้อยลงในอนาคตอันใกล้ ดูได้จากแผนพัฒนาพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 (PDP2010) จะเพิ่มสัดส่วนการซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านเป็นร้อยละ 25 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
“พลังงานทดแทน” จึงกลายเป็นคำตอบสำคัญต่อความมั่นคงทางพลังงานของไทย โดยแผน PDP2010 ของกระทรวงพลังงานได้เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนขึ้นมาเป็นร้อยละ 20 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด และช่วงที่ผ่านมา เชื้อเพลิงชีวภาพในกลุ่มของ LPG, NGV, แก๊สโซฮอล์หรือน้ำมันไบโอดีเซล ก็ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์มากขึ้น เทคโนโลยีพลังงานทดแทนชนิดใหม่ๆ อย่าง พลังงานความร้อนร่วมจากชีวมวล ก๊าซชีวภาพ หรือแม้แต่ขยะ ก็มีอนาคตที่สดใส และสมควรได้รับการผลักดันจากภาครัฐและภาคเอกชนอย่างจริงจัง
แต่พลังงานทดแทนยังมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี และข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์-ภูมิอากาศของประเทศไทย ทำให้ตัวเลือกของพลังงานทดแทนชนิดต่างๆ มีไม่มากอย่างที่ควรจะเป็น ตัวอย่างเช่นกรณีของพลังงานแสงอาทิตย์ ที่พบปัญหาเมฆมากหรือฝนตกในบริเวณกว้างทำให้ไม่มีแสงอาทิตย์ต่อเนื่องมากพอ สำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้า และวัสดุอุปกรณ์ในการผลิตพลังงานยังมีราคาสูงอยู่ ทำให้ประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในการลงทุนกับโครงการพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ ลักษณะนี้
ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้หลายฝ่ายต้องมองไปถึงพลังงานทางเลือกอีกอย่างคือ “พลังงานนิวเคลียร์” ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติว่าควรจะเดินหน้าหรือไม่ เพราะเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลยังอยู่ในความทรงจำของประชาชน และกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะที่เกิดซ้ำในปี 2554 ยิ่งทำให้ประชาชนหลายฝ่ายยังวิตกกังวล อย่างไรก็ตาม เราควรพิจารณาข้อมูลที่ว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทยกลับเร่งการเกิดโครงการโรง ไฟฟ้านิวเคลียร์ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเวียดนามที่ชัดเจนแล้วว่าสร้างแน่นอน (อยู่ห่างจากไทยไปราว 900 กิโลเมตร) และพม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย ที่ยังอยู่ในขั้นเตรียมการ
ทิศทางของพลังงานไทยในระยะยาวจึงประสบความผันผวนอย่างมาก ไทยจะต้องพยายามลดสัดส่วนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอซซิลลง พยายามใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ลงทุนในเทคโนโลยีผลิตพลังงานแบบใหม่ๆ และสุดท้ายแล้วพลังงานนิวเคลียร์ที่ต้นทุนต่ำแต่ความขัดแย้งสูง อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

Popular posts from this blog

KZM EURUSD System Explanation + 1st Week Result

เทคนิคอ่านงบการเงิน: ดร.วรศักดิ์ ทุมมานนท์

แนวคิดเกี่ยวกับระบบเทรด Forex ของผม [iCloud] และรายละเอียดอินดี้แต่ละตัว

จิตวิทยาการลงทุน : สุดารัตน์ ทิพยเทอดธนา